Switzerland; Swiss Confederation

สวิตเซอร์แลนด์, สมาพันธรัฐสวิส




     สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศขนาดเล็ก ตั้งอยู่กลางทวีปยุโรปโดยไม่มีทางออกสู่ทะเล ภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยขุนเขา ทะเลสาบ และลาดเนินทำให้มีชื่อเสียงในด้านทิวทัศน์อันงดงาม จนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมากประกอบกับความก้าวหน้าในด้านอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรแร่ธาตุน้อย เช่น การผลิตนาฬิกา สิ่งทอ ตลอดจนผลิตภัณฑ์นมต่าง ๆ ทำให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดประเทศหนึ่ง
     ดินแดนที่เป็นประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปัจจุบัน มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในหลายส่วนของประเทศแสดงให้เห็นร่องรอยการตั้งถิ่นฐานและวัฒนธรรมยุคต่าง ๆ ทั้งยุคหินเก่ายุคหินใหม่ และยุคสัมฤทธิ์ เมื่อถึงยุคเหล็กประมาณ ๘๕๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวเผ่าที่ครอบครองดินแดนนี้คือพวกเคลต์ (Celt) ซึ่งมีเผ่าเฮลเวตี(Helvetii) เป็นเผ่าใหญ่และมีอำนาจมากที่สุด ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคตะวันตกของประเทศ และพวกรีเชียน(Rhaetian) ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออก ประมาณศตวรรษที่ ๑ ก่อนคริสต์ศักราชจักรวรรดิโรมันขยายอำนาจและผนวกดินแดนนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรวมทั้งได้พัฒนาเมืองต่าง ๆ ขึ้น ปรับปรุงเส้นทางส่งน้ำ สร้างสนามกีฬา โรงมหรสพตลอดจนที่พักอาศัยแบบโรมันเป็นจำนวนมาก (ซากโบราณสถานเหล่านี้หลายแห่งยังคงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน) นอกจากนี้ ชาวโรมันยังขยายเส้นทางการคมนาคมหลายสาย เพื่อใช้เป็นเส้นทางติดต่อระหว่างกรุงโรมกับอาณานิคมที่อยู่ชายแดนทางเหนือของจักรวรรดิส่งผลให้สวิตเซอร์แลนด์กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในสมัยนั้น
     ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๑ อนารยชนเยอรมันเริ่มเข้ามารุกรานและยึดครองดินแดนสวิตเซอร์แลนด์ และในคริสต์ศตวรรษที่ ๕ ดินแดนแถบนี้ก็ตกอยู่ใต้การปกครองของชนเผ่าเยอรมัน ๒ เผ่า คือพวกเบอร์กันเดียน (Burgundian) กับ
     พวกอะลามานนี (Alamanni) ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่กว่าและสามารถรุกรานจนได้ครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ รวมทั้งขับไล่ชาวเคลต์บางกลุ่มให้ถอยลึกเข้าไปในหุบเขาเกราบึนเดิน (Graubünden) [ปัจจุบันชาวสวิสเชื้อสายเคลต์ที่อยู่ในบริเวณนี้ยังคงใช้ภาษาโรแมนช์ (Romansch) ซึ่งเป็นภาษาทางการภาษาหนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์]
     ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๖ พวกแฟรงก์ (Frank) เริ่มเข้ามารุกรานและต่อมาดินแดนแถบนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิแฟรงก์หรือจักรวรรดิคาโรลินเจียน(Carolingian Empire) ใน ค.ศ. ๘๔๓ดินแดนสวิตเซอร์แลนด์ถูกแบ่งออกเป็นส่วน ๆตามข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์เดิง (Treaty of Verdun) ซึ่งแบ่งจักรวรรดิแฟรงก์ออกเป็น ๓ ส่วนเพื่อมอบให้แก่บรรดาพระราชนัดดา ๓ พระองค์ของจักรพรรดิชาร์เลอมาญ (Charlemagne ค.ศ. ๘๐๐-๘๑๔) และในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งโดยอยู่ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)ที่มีกษัตริย์เยอรมันเป็นประมุขอย่างไรก็ดีการที่อำนาจปกครองของจักรวรรดิเริ่มเสื่อมลงเรื่อย ๆ ทำให้ราชวงศ์ต่าง ๆ เช่น ซาริงเงินหรือแซริงเงิน (Zahringen;Zähringen) ซาวอย (Savoy) และฮับส์บูร์ก (Habsburg) ต่างพยายามขยายอาณาเขตและอิทธิพลเหนือดินแดนต่าง ๆ ในยุโรป ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓สวิตเซอร์แลนด์ส่วนใหญ่อยู่ใต้อิทธิพลของราชวงศ์ซาริงเงิน และตั้งแต่ ค.ศ. ๑๒๗๓เป็นต้นมา ราชวงศ์ฮับส์บูร์กก็เริ่มเข้ามามีอำนาจเหนือดินแดนแถบนี้
     การขยายอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์กดังกล่าวทำให้รัฐ (canton) ต่าง ๆที่อยู่ตอนกลางของสวิตเซอร์แลนด์พยายามผนึกกำลังกันต่อต้าน ในวันที่ ๑ สิงหาคมค.ศ. ๑๒๙๑ รัฐอูีร (Uri) รัฐชวีซ (Schwyz) และรัฐอุนเทอร์วัลเดิน (Unterwalden)ได้ทำสัญญาร่วมมือกันต่อต้านการรุกรานของต่างชาติซึ่งเรียกว่า สันนิบาตนิรันดร(Everlasting League) ที่เมืองรึทลี(Rütli) ซึ่งอยู่เหนือทะเลสาบลูเซิร์นขึ้นไป นับเป็นจุดเริ่มต้นของสมาพันธรัฐสวิส (ชาวสวิสถือว่าวันที่ ๑ สิงหาคมเป็นวันชาติของตนและใน ค.ศ. ๑๙๙๑ ได้มีการเฉลิมฉลองการครบรอบ ๗๐๐ ปี แห่งการประกาศเอกราชอย่างยิ่งใหญ่)
     ใน ค.ศ. ๑๓๑๕ ดุ็กเลโอโปลด์ (Leopold) แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์กได้ส่งกำลังทหารเข้ามาปราบปรามรัฐชวิซและอุนเทอร์วัลเดิน แต่ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากกองกำลังของกลุ่มพันธมิตรสวิส ซึ่งมีกำลังน้อยกว่าและส่วนใหญ่เป็นทหารชาวนาที่ใช้หอกไม้เป็นอาวุธจนต้องพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง ชัยชนะครั้งนี้ทำให้สมาพันธรัฐที่ตั้งขึ้นใหม่เป็นที่ยอมรับ และมีรัฐสวิสอื่น ๆ เข้ามาร่วมมากขึ้นเป็นลำดับ
     ได้แก่ ลูเซิร์น (Lucern) ใน ค.ศ. ๑๓๓๒ ซูิรก (Zurich) ใน ค.ศ. ๑๓๕๑ กลารุส (Glarus)และซุก (Zug) ใน ค.ศ. ๑๓๕๒ และเบิร์น (Bern) ใน ค.ศ. ๑๓๕๓ เป็นผลให้อาณาเขตของสมาพันธรัฐขยายกว้างขวางขึ้น รวมทั้งมีกำลังคนงบประมาณ ตลอดจนศักยภาพในด้านการเมืองและยุทธวิธีเพิ่มขึ้นมาก ราชวงศ์ฮับส์บูร์กพยายามส่งกองทัพเข้ามาปราบปรามอีกหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากการพ่ายแพ้ที่เซมพัค (Zempach) ใน ค.ศ. ๑๓๘๖ และที่เนเฟิลส์ (Näfels) ใน ค.ศ. ๑๓๘๘ แล้วการคุกคามของราชวงศ์ฮับส์บูร์กก็ลดน้อยลงจนเกือบไม่มีเลย
     อย่างไรก็ตาม ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ สมาพันธรัฐสวิสซึ่งประกอบด้วยทั้ง ๘ รัฐดังกล่าวยังต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งทั้งภายนอกและภายในประเทศปัญหาภายนอกเกิดจากการที่อาณาเขตของสมาพันธรัฐถูกล้อมรอบด้วยดินแดนที่อยู่ในการปกครองของราชวงศ์ที่มีทั้งอำนาจและอิทธิพล ได้แก่ ราชวงศ์ฮับส์บูร์กราชวงศ์มิลาน ราชวงศ์ซาวอย และราชวงศ์เบอร์กันดีทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกรุกรานและยึดครอง นโยบายเดิมของสมาพันธรัฐที่มุ่งรวมกันเพื่อต่อต้านการรุกรานจากภายนอกจึงต้องเปลี่ยนเป็นการเข้าโจมตีก่อนเพื่อรักษาเขตแดนของตนไว้และปลดเปลื้องสิทธิตามระบอบการปกครองแบบฟิวดัลของราชวงศ์ฮับส์บูร์กเหนือดินแดนของสมาพันธรัฐ สมาพันธรัฐสวิสได้รับชัยชนะในการรบหลายครั้ง เช่นใน ค.ศ. ๑๔๑๕ สามารถยึดได้รัฐอาร์เกา (Aargau) ซึ่งเป็นรัฐชายแดนด้านใต้ของออสเตรีย และคั่นอยู่ระหว่างรัฐซูิรกกับลูเซิร์นและเบิร์น ค.ศ. ๑๔๗๖ และ ๑๔๗๗รบชนะดุ็กชาร์ลพระเศียรล้าน (Charles the Bald) แห่งเบอร์กันดีและใน ค.ศ. ๑๔๙๙ก็มีชัยเหนือกองทัพของจักรพรรดิมักซิมิเลียนที่ ๑ (Maximilian I) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จนพระองค์ต้องยอมทำสนธิสัญญาบาเซิล (Treaty of Basel)ซึ่งเป็นการยอมรับความเป็นอิสระของสมาพันธรัฐสวิส แม้จะมิใช่อย่างเป็นทางการ
     ส่วนปัญหาภายในของสมาพันธรัฐสวิสเนื่องมาจากลักษณะการร่วมมือกันของรัฐต่าง ๆ เป็นการรวมกันอย่างหลวม ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายทางการทหารเป็นสำคัญทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐขึ้นหลายครั้ง ครั้งสำคัญคือสงครามระหว่างซูิรกกับรัฐข้างเคียงในทศวรรษ ๑๔๓๐ รัฐซูิรกซึ่งได้รับการสนับสนุนจากออสเตรีย และฝรั่งเศส พยายามขยายอาณาเขตของตนออกไปทางทิศตะวันออกและทิศใต้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนในที่สุดก็ต้องยอมเลิกนโยบายขยายดินแดน และกลับเข้าร่วมในสมาพันธรัฐอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๔๕๐ ในขณะเดียวกัน สมาพันธรัฐสวิสก็มีอาณาเขตกว้างขวางขึ้น เนื่องจากการเข้าร่วมของรัฐสวิสอีก ๕ รัฐ คือ ฟรีบูร์ก
     (Fribourg) และโซโลทูร์น (Solothurn) ใน ค.ศ. ๑๔๘๑ บาเซิล (Basel) และชาฟฟ์เฮาเซิน (Schaffhausen) ใน ค.ศ. ๑๕๐๑ และอัพเพินเซลล์ (Appenzell) ในค.ศ. ๑๕๐๓ เป็นผลให้สมาพันธรัฐสวิสประกอบด้วยรัฐอิสระ ๑๓ รัฐ
     ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ สมาพันธรัฐสวิสถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศส ออสเตรีย และอิตาลี ด้วยเรื่องการครอบครองหุบเขาโปซึ่งอยู่ประชิดพรมแดนด้านใต้ของสมาพันธรัฐ ในช่วงแรกพวกสวิสสนับสนุนฝรั่งเศส ในการเข้ารุกรานอิตาลี แต่ต่อมาได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับอิตาลี ต่อสู้กับฝรั่งเศส และสามารถขับไล่ฝรั่งเศส ออกไปจากหุบเขาโปได้สำเร็จ อย่างไรก็ดีฝรั่งเศส สามารถรวมกำลังได้ใหม่ในเวลาไม่นานหลังจากนั้น และใน ค.ศ. ๑๕๑๕ ก็สามารถเอาชนะกองทหารสวิสได้อย่างเด็ดขาดในการรบที่มารีญาโน (Marignano) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของมิลาน (ปัจจุบันคือ เมืองเมเลญาโน (Melegnano) โดยฝ่ายสวิสเสียกำลังทหารไปกว่า ๘๐,๐๐๐ คน ส่งผลให้สงครามครั้งนี้ิส้นสุดลง แต่ในการทำสนธิสัญญาสงบศึก สมาพันธรัฐสวิสซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไม่ได้ประสบความสูญเสียมากนัก เพราะยังคงมีสิทธิครอบครองดินแดนที่ในปัจจุบันเป็นเขตทีชีโน (Ticino)รวมทั้งดินแดนทางภาคใต้ที่เคยครอบครองอยู่เดิมเกือบทั้งหมดยิ่งกว่านั้นสงครามครั้งนี้ยังมีผลดีต่อสมาพันธรัฐสวิสหลายประการ เพราะทำให้เกิดสันติภาพระหว่างสมาพันธรัฐสวิสกับฝรั่งเศส เป็นเวลายาวนานกว่า ๒๕๐ ปีจนถึงสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789) สนธิสัญญาสันติภาพยังมีข้อกำหนดให้ทั้ง ๒ ประเทศเป็นเขตการค้าเสรีทำให้ชาวสวิสมีตลาดการค้าที่กว้างขวางขึ้นมากอุตสาหกรรมภายในประเทศเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ฝรั่งเศส เคยพยายามที่จะตั้งกำแพงภาษีเพื่อปกป้องผลผลิตภายในประเทศของตนหลายครั้ง แต่พ่อค้าสวิสก็ยกข้อกำหนดในสนธิสัญญาดังกล่าวมาต่อสู้จนฝรั่งเศส ต้องยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าสวิสไปทุกครั้ง ทำให้สมาพันธรัฐสวิสได้เปรียบประเทศคู่แข่งสำคัญคือเยอรมนี และอิตาลี อย่างมาก นอกจากนี้ การที่กองทหารสวิสเป็นฝ่ายปราชัยอย่างยับเยินในการรบที่มาริญาโนทำให้ชาวสวิสตระหนักได้ว่าการที่จะดำรงความเป็นเอกราชไว้ได้นั้น สมาพันธรัฐสวิสจะต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งของประเทศเพื่อนบ้าน คือออสเตรีย ฝรั่งเศส และอิตาลี อันนับเป็นก้าวแรกของนโยบายวางตนเป็นกลางที่ดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน
     ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ในยุโรปได้เกิดขบวนการปฏิรูปคริสต์ศาสนาจนมีการก่อตั้งนิกายโปรเตสแตนต์ขึ้น ในสมาพันธรัฐสวิสซูิรกเป็นศูนย์กลางของนิกายใหม่
     โดยมีอุลริช ซวิงลี(Ulrich Zwingli)อดีตบาทหลวงในนิกายโรมันคาทอลิกเป็นผู้นำคำสอนของเขาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในรัฐที่ชุมชนส่วนใหญ่เป็นชุมชนเมือง ได้แก่ รัฐชวิฟฟ์เฮาเซิน เบิร์น บาเซิลอัพเพินเซลล์และกลารุส ส่วนรัฐที่ชุมชนส่วนใหญ่เป็นชุมชนชนบท ซึ่งได้แก่ รัฐลู เซิร์น อูีร ชวีซ อุทเทอร์วัลเดินซุก ฟรีบูร์ก และโซโลทูร์นนั้น ประชาชนยังคงยึดมั่นในคำสอนของคริสต์ศาสนาแบบดั้งเดิมซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของสันตะปาปาที่กรุงโรม รัฐเหล่านี้ได้ผนึกกำลังกันต่อต้านการแพร่ขยายของนิกายโปรเตสแตนต์ และใน ค.ศ. ๑๕๓๑ ก็ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในการรบที่หมู่บ้านคัพเพิล (Kappel) ในรัฐซูิรก ซวิงลีเสียชีวิตในที่รบการพยายามเผยแผ่นิกายโปรเตสแตนต์ให้เป็นที่ยอมรับในรัฐอื่น ๆ จึงยุติลง รัฐสวิสทั้งหลายมีเสรีภาพที่จะเลือกนิกายศาสนาของตน
     ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๕๓๓ เป็นต้นมาเป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปี นับเป็นช่วงเวลาแห่งความสงบสันติและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แม้ว่าความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองย่อย ๆ ระหว่างรัฐที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายต่างกันจะยังคงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และมีทหารรับจ้างชาวสวิสจำนวนมากไปร่วมรบในกองทัพของประเทศต่าง ๆ ในสงครามที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่สมาพันธรัฐสวิสสามารถหลีกเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยุโรป โดยเฉพาะในสงคราม๓๐ปี (Thirty Yearsû War) เมื่อสิ้นสุดสงครามใน ค.ศ. ๑๖๔๘ ในสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (Treaty of Westphalia) มหาอำนาจในยุโรปได้ยอมรับอย่างเป็นทางการว่าสมาพันธรัฐสวิสเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์จากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ในช่วงเวลาเดียวกันมีรัฐและเมืองใหญ่เข้ามาผูกพันกับสมาพันธรัฐสวิสโดยผ่านการทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับรัฐใดรัฐหนึ่งหรือหลายรัฐของสมาพันธรัฐ ที่สำคัญได้แก่ เกราบึนเดิน(Graubünden) เซนต์กาลเลิน (St. Gallen) ราชรัฐเนอชาแตล (Principality ofNeuch้tel) และเสรีรัฐเจนีวา (Free Republic of Geneva)
     การดำรงความเป็นกลางในช่วงสงคราม ๓๐ ปี ทำให้มีผู้ีล้ภัยอพยพเข้ามาในสมาพันธรัฐสวิสเป็นจำนวนมาก คนเหล่านี้นำทั้งเงินทุน แรงงาน และเทคโนโลยีเข้ามาและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมของรัฐสวิสที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งมีทั้งผ้าขนสัตว์ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน และผ้าไหม แหล่งอุตสาหกรรมสิ่งทอของสมาพันธรัฐสวิสส่วนใหญ่อยู่ในเขตรัฐชนบททางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นบริเวณที่สามารถนำพลังงานกระแสน้ำมาใช้ในอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของ
     สวิตเซอร์แลนด์คือการผลิตนาฬิกาก็พัฒนาขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ผู้ีล้ภัยชาวฝรั่งเศส และอิตาลี ได้นำธุรกิจการผลิตนาฬิกาเข้ามาที่เมืองเจนีวาและเมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ในเจนีวามีนายช่าง (master) นาฬิกากว่า ๑,๐๐๐คนและเด็กฝึกงานอีกหลายพันคน ในด้านการค้าพ่อค้าชาวสวิสนอกจากจะขายสินค้าที่ผลิตขึ้นในสมาพันธรัฐให้แก่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปแล้ว ยังทำตัวเป็นคนกลางในการซื้อและขายผลิตผลของประเทศที่เป็นคู่สงครามอีกด้วย ซึ่งนำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศเป็นอย่างมาก
     อย่างไรก็ดีแม้ว่าสมาพันธรัฐสวิสจะได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากมหาอำนาจและมีความเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่โครงสร้างทางการเมืองภายในกลับไม่เข้มแข็ง สภาของสมาพันธรัฐประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐต่าง ๆ รัฐละ ๒ คนทั้งมีข้อกำหนดว่าการลงมติทุกครั้งจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกอย่างเป็นเอกฉันท์และยังต้องได้รับการให้สัตยาบันจากรัฐทุกรัฐอีกด้วยจึงจะใช้บังคับได้ ระบบเช่นนี้ทำให้การตัดสินของสภาแต่ละครั้งไม่สามารถบรรลุผล ในที่สุดก็ไม่มีการประชุมสภาอีกเลยในช่วง ค.ศ. ๑๖๖๓-๑๗๗๖ ส่วนสภาของรัฐต่าง ๆ ก็พัฒนาขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น บางรัฐที่ชุมชนเป็นชุมชนชนบทมีสภาที่ประกอบด้วยเสรีชนชายทุกคนในรัฐ และประชุมกันปี ละครั้งเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ของรัฐ ในขณะที่บางรัฐมีสภานิติบัญญัติที่ประกอบด้วยผู้แทนจากกลุ่มขุนนาง ชนชั้นผู้ดี หรือตระกูลพ่อค้าที่มั่งคั่ง นอกจากนี้ แต่ละรัฐยังมีกองทัพของตนเอง ความขัดแย้งและความเป็นปฏิปักษ์ทางศาสนาก็ยังคงมีอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งความหวาดระแวงที่รัฐชนบทมีต่อรัฐแบบเมือง และความไม่พอใจที่รัฐเล็ก ๆ มีต่อรัฐใหญ่ ๆ ทั้งหมดนี้ทำให้สมาพันธรัฐสวิสไม่มีความสามารถพอที่จะต่อต้านการรุกรานทางทหารของกองทัพฝรั่งเศส หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
     เมื่อนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) สามารถยึดครองภาคเหนือของอิตาลี ได้แล้ว ก็ยกกองทัพเข้าบุกสมาพันธรัฐสวิสซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางระหว่างเมืองมิลานกับกรุงปารีส และเป็นจุดที่ควบคุมช่องเขาเซนต์เบอร์นาร์ด(St. Bernard) ในเทือกเขาแอลป์ นโปเลียนยึดกรุงเบิร์นได้ในวันที่ ๕ มีนาคมค.ศ. ๑๗๙๘ และตั้งสาธารณรัฐเฮลเวติก (Helvetic Republic) ขึ้น นับเป็นการสิ้นสุดสมาพันธรัฐสวิสเดิมซึ่งประกอบด้วย ๑๓ รัฐ รัฐบาลของสาธารณรัฐเฮลเวติกซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของฝรั่งเศส ดำเนินการปกครองจากส่วนกลางโดยรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในกรุงปารีส รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยุบเลิกอำนาจปกครองตนเองของรัฐต่าง ๆ
     โดยสิ้นเชิง แบ่งการปกครองออกเป็นจังหวัด (prefect) ที่ขึ้นตรงต่อส่วนกลางนอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังยกเลิกระบบสังคมแบบฟิวดัลที่มีอยู่ในบางรัฐ และกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทางกฎหมาย ซึ่งเท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองแบบคณาธิปไตยโดยชนชั้นนำซึ่งดำเนินอยู่ในรัฐแบบเมืองของสมาพันธรัฐเดิมลง อย่างไรก็ดี ปัญหาความแตกต่างหลากหลายในด้านภาษาวัฒนธรรม และศาสนาของรัฐต่าง ๆ รวมทั้งความไม่พอใจของประชาชนในรัฐชนบทที่ถูกลิดรอนอำนาจปกครองของท้องถิ่น ตลอดจนความไม่พอใจที่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของต่างชาติทำให้รัฐบาลสาธารณรัฐต้องเผชิญปัญหาอย่างหนัก
     นโปเลียนพยายามแก้ปัญหาโดยจัดการประชุมผู้แทนชาวสวิสขึ้นที่กรุงปารีสใน ค.ศ. ๑๘๐๒ เพื่อร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับใหม่ขึ้น และได้ประกาศใช้รัฐบัญญัติการประนีประนอม (Act of Mediation) ในปี ต่อมา รัฐบัญญัิตฉบับนี้ปรับเปลี่ยนการปกครองแบบรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางมาเป็นแบบสมาพันธรัฐอีกครั้งหนึ่ง โดยฟื้นสถานภาพรัฐเดิมทั้ง ๑๓ รัฐรวมทั้งตั้งรัฐใหม่อีก ๖ รัฐ คือเซนต์กอลล์ (St. Gall) เกราบึนเดินอาร์เกา ทูร์เกา (Thurgau) ทีชีโน และโว (Vaud)ทั้ง ๑๙ รัฐนี้รวมกันขึ้นเป็นสมาพันธรัฐเฮลเวติก (Helvetic Confederation)สภาของสมาพันธรัฐยังคงมีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะนำประเทศเข้าสู่สงครามหรือไม่การออกเงินตรา การทหาร และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนอำนาจอื่น ๆนอกจากนี้เป็นของรัฐบาลแต่ละรัฐ รัฐบัญญัติการประนีประนอมยังคงยืนยันการเลิกล้มสิทธิพิเศษของชนชั้นสูง และกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทางกฎหมาย ค้ำประกันเสรีภาพในการเดินทางข้ามรัฐ การเลือกประกอบอาชีพอย่างเสรีอีกทั้งยังระบุให้ฝรั่งเศส มีสิทธิเรียกระดมทหารสวิสเข้าร่วมรบในสงครามของฝรั่งเศส
     เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕) สิ้นอำนาจ การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna) ซึ่งมีขึ้นเพื่อจัดระเบียบและแบ่งเขตแดนของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้ให้การค้ำประกันสถานภาพความเป็นกลางตลอดกาลของสวิตเซอร์แลนด์ แต่มหาอำนาจกดดันให้ชาวสวิสร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือธรรมนูญ ค.ศ. ๑๘๑๕ (Pact of 1815) ซึ่งมีรัฐใหม่เข้าร่วมในสมาพันธรัฐอีก ๓ รัฐคือ วาเล (Valais) เนอชาแตล และเจนีวา ธรรมนูญฉบับนี้ลดบทบาทของรัฐบาลกลางลงอย่างมากคงเหลือเพียงเรื่องการทหาร การตัดสินใจเข้าสู่สงคราม และการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ แต่ถึงกระนั้นรัฐแต่ละรัฐก็ยังมีสิทธิที่จะทำ
     สนธิสัญญาหากสนธิสัญญานั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับผลประโยชน์ของรัฐนั้น ๆนอกจากนี้ เสรีภาพในการเดินทางข้ามรัฐ การนับถือศาสนา และการเลือกประกอบอาชีพ รวมทั้งความเท่าเทียมกันของประชาชนในทางกฎหมายก็ถูกยกเลิก รัฐต่าง ๆหันมาใช้รูปแบบการปกครองแบบเดิม เป็นผลให้ชนชั้นสูงหรือผู้มั่งคั่งกลับมามีอภิสิทธิ์ดังแต่ก่อน
     หลัง ค.ศ. ๑๘๑๕ เศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในภาคเกษตรกรรมอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว แต่ในด้านการเมืองกลับมีปัญหาเนื่องจากแต่ละรัฐนอกจากจะมีอำนาจปกครองตนเองแล้ว ยังมีกฎหมายและกองทัพของตนเองและมีระบบการไปรษณีย์แยกจากกัน ยิ่งกว่านั้นรัฐต่าง ๆ ยังใช้ระบบเงินตราและระบบชั่งตวงวัดที่แตกต่างกันอีกด้วยเป็นผลให้พลเมืองของแต่ละรัฐมักจะมองว่าพลเมืองของรัฐอื่นเป็นคนต่างชาติมากกว่าจะเป็นคนสวิสด้วยกันนอกจากนี้ ปัญหาเรื่องความแตกต่างทางด้านศาสนาที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลานานก็เริ่มปรากฏให้เห็นอีกครั้ง
     ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ แนวความคิดเรื่องชาตินิยมและเสรีนิยมแพร่ไปทั่วยุโรประหว่าง ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๓๓ หลายรัฐให้สิทธิในการเลือกตั้งแก่ประชากรชายทุกคนให้เสรีภาพในการพิมพ์ตลอดจนสร้างความเท่าเทียมกันทางกฎหมายมากขึ้น ในค.ศ. ๑๘๓๔ ผู้แทนจากรัฐที่มีแนวโน้มไปในทางเสรีนิยมได้ลงมติในสภาของสมาพันธรัฐยอมรับแผนการที่ให้อำนาจแก่รัฐบาลกลางในการเก็บภาษีจากทรัพย์สินของโบสถ์ การก่อตั้งระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา รวมทั้งการให้เสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาแก่ประชาชนในรัฐ เป็นผลให้รัฐที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิก ๗ รัฐ คือ ลูเซิร์นอูีร ชวีซอุนเทอร์วัลเดิน ซุก ฟรีบูร์ก และวาเลร่วมกันต่อต้านโดยรวมตัวกันเป็นกลุ่มพันธมิตรเรียกว่าซอนเดอร์บุนด์ (Sonderbund)ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๗ สภาของสมาพันธรัฐได้ลงมติว่า การรวมกลุ่มพันธมิตรดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญของสมาพันธรัฐและจะต้องเลิกล้มไป เมื่อได้รับคำปฏิเสธ รัฐอื่น ๆ จึงร่วมมือกันส่งกองทัพเข้าปราบปรามในเดือนพฤศจิกายนปี เดียวกันสงครามกลางเมืองครั้งนี้กินเวลาเพียง ๒๕ วันก็ยุติลงโดยสมาพันธรัฐเป็นฝ่ายมีชัยในปีต่อมาก็ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยใช้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบและประกาศใช้ในปี เดียวกัน ค.ศ. ๑๘๔๘ จึงนับเป็นจุดหักเหที่สำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากรูปแบบการบริหารปกครองประเทศได้เปลี่ยนจากการมารวมตัวกันด้วยวัตถุประสงค์ในด้านการป้องกันประเทศและรักษาความสงบ
     ภายในของรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยของตนเอง มาเป็นสมาพันธรัฐแบบรวมศูนย์(federal centralized state) ตามรัฐธรรมนูญนี้ (มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญบางประการ โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลสมาพันธรัฐและการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ประชาชนใน ค.ศ. ๑๘๗๔) รัฐบาลสมาพันธรัฐมีอำนาจกำกับดู แลด้านนโยบายต่างประเทศ การทหาร การรักษาความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกประเทศ การขนส่ง การคมนาคม การป่าไม้ การอนุรักษ์พลังงานน้ำ การศุลกากร การไปรษณีย์ การโทรเลข การโทรศัพท์ และการออกเงินตรา ตลอดจนการกำหนดมาตรการให้กระบวนการยุติธรรมของรัฐต่าง ๆ เป็นไปในทางเดียวกัน
     หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๘๔๘ สมาพันธรัฐได้กำหนดให้รัฐต่าง ๆ ใช้ระบบเงินตรา ระบบชั่งตวงวัด และระบบการไปรษณีย์เดียวกัน ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการค้าของประเทศเป็นอย่างมาก การพยายามสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจของรัฐบาลสมาพันธรัฐกับรัฐบาลของแต่ละรัฐ และระหว่างแต่ละรัฐดังกล่าวทำให้ความขัดแย้งภายในที่มีมานานยุติลงได้ ความสงบภายในประเทศที่เกิดขึ้นตามมารวมทั้งนโยบายดำรงความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์ทำให้ประชาชนสามารถพัฒนาการเกษตร อุตสาหกรรม และการคมนาคมได้อย่างเต็มที่ในด้านการคมนาคมนั้น ชาวสวิสได้สร้างเครือข่ายทางรถไฟขึ้นอย่างกว้างขวาง และเชื่อมต่อกับทางรถไฟของประเทศเพื่อนบ้าน (ในช่วงแรกการสร้างทางและการเดินรถไฟเป็นกิจการของบริษัทเอกชน ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๙๘ ประชาชนจึงออกเสียงให้โอนกิจการรถไฟสายหลัก ๆ มาเป็นของรัฐ) ใน ค.ศ. ๑๘๗๒ สวิตเซอร์แลนด์ได้ทำความตกลงกับอิตาลี และเยอรมนี ในการขุดอุโมงค์เซนต์กอทท์ฮาร์ด (St. GotthardTunnel) ซึ่งมีความยาว ๑๔.๙๖ กิโลเมตร จนสามารถเปิดใช้งานได้ใน ค.ศ. ๑๘๘๒นับเป็นอุโมงค์ทางรถไฟที่ยาวที่สุดในโลกในขณะนั้น และในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ก็ได้สร้างอุโมงค์ซิมพลอน (Simplon Tunnel) ซึ่งมีความยาว ๑๙.๓ กิโลเมตรและอุโมงค์เลิทช์แบร์ก (Lötschberg Tunnel) ยาว ๑๔.๔๘ กิโลเมตร ทำให้การคมนาคมทางบกในยุโรปเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นจุดกลางของเส้นทางรถไฟสายหลักของยุโรปทั้งในแนวตะวันออก-ตะวันตกและแนวเหนือ-ใต้ รวมทั้งอุโมงค์ทางรถไฟเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้สวิตเซอร์แลนด์สามารถดำรงความเป็นกลางไว้ได้ตลอดมา เพราะหากประเทศถูกโจมตี ชาวสวิสก็สามารถทำลายอุโมงค์เหล่านี้ ซึ่งจะยังผลให้ทางรถไฟสายหลักของยุโรปเป็นอัมพาตไปโดยสิ้นเชิง
     ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ยุโรปได้เกิดสงครามใหญ่ขึ้นอีกครั้งหนึ่งคือสงครามฝรั่งเศส -ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑) ซึ่งคู่สงครามต่างเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่และอยู่ประชิดพรมแดนสวิสด้านตะวันตกและด้านเหนือ สวิตเซอร์แลนด์สามารถดำรงความเป็นกลางไว้ได้จนสิ้นสงคราม และเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘) ขึ้น ประเทศต่าง ๆ จำนวนมากไม่เฉพาะแต่ในยุโรปถูกดึงเข้าสู่สงคราม แต่สวิตเซอร์แลนด์ที่ตั้งอยู่ตรงกลางของทวีปยุโรปอันเป็นสมรภูมิของการยุทธส่วนใหญ่ อีกทั้งประเทศก็ประกอบด้วยชนต่างเชื้อชาติและภาษาที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกันในมหาสงครามครั้งนี้กลับสามารถยืนหยัดรักษาความเป็นกลางและผ่านวิกฤตการณ์มาได้ แม้ว่าเศรษฐกิจหลายส่วนจะเสียหายไปมากเนื่องจากผลกระทบของสงคราม แต่ธุรกิจหลายอย่าง เช่น การผลิตเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมสิ่งทอ การแปรรูปอาหารการเกษตร รวมทั้งการผลิตนาฬิกากลับขยายตัวอย่างมาก นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์ยังเริ่มมีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางขององค์การระหว่างประเทศเกี่ยวกับมนุษยธรรมและการบรรเทาทุกข์ รวมทั้งเป็นแหล่งพักพิงของผู้ีล้ภัยสงครามด้วย
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลง สนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of versailles)ได้ให้การยอมรับสถานภาพความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสันติภาพของโลก และเมื่อมีการก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ(League ofNations) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเจนีวาและสวิตเซอร์แลนด์เข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่เริ่มแรก สมัชชาสันนิบาตชาติได้ย้ำถึงความสำคัญของความเป็นกลางตลอดกาลและบูรณภาพแห่งดินแดนสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งยังมีข้อระบุว่าสวิตเซอร์แลนด์จะไม่ถูกเรียกร้องให้เข้าร่วมในการปฏิบัติการทางทหารใด ๆ และต้องไม่ยอมให้กองกำลังต่างชาติเข้าไปพำนักหรือหยุดพักในดินแดนของประเทศ แต่สวิตเซอร์แลนด์มีพันธะที่จะต้องเข้าร่วมในการใช้มาตรการบังคับ (sanction)ต่อประเทศที่ละเมิดกติกาสัญญาของสันนิบาตชาติตามที่สันนิบาตชาติเรียกร้อง
     ต่อมาเมื่อสันนิบาตชาติอ่อนแอลงเรื่อย ๆ เนื่องจากประเทศมหาอำนาจหลายประเทศไม่ยอมปฏิบัติตามมติขององค์การและลาออกจากสมาชิกภาพ รัฐบาลสวิสก็ตระหนักว่าการที่จะธำรงความเป็นกลางและความเป็นเอกราชของชาติไว้ได้นั้นสวิตเซอร์แลนด์จะต้องเสริมความเข้มแข็งทั้งในด้านการทหาร เศรษฐกิจ และจิตวิทยาฉะนั้น เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๙ กองทัพสวิสก็มีความสามารถที่จะเรียกระดมพลได้สูงสุดถึง ๘๕๐,๐๐๐ คน ทั้งที่มีประชากรเพียง ๔ ล้านคน ป้อม
     แห่งหนึ่งในเทือกเขาแอลป์ได้รับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเพรียบพร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์อุปกรณ์ทางการแพทย์อาหาร น้ำ โรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ รวมทั้งโรงงานอื่น ๆ ที่จำเป็น ซึ่งเป็นการประกันว่าหากประเทศถูกกองทัพนาซีรุกรานและบริเวณตอนกลางของประเทศถูกยึดครอง กองทัพสวิสก็จะยังสามารถยืนหยัดต่อสู้ต่อไปได้ มีการทำความเข้าใจกับประชาชนว่า หากมีประกาศทางวิทยุ ใบปลิวหรือสื่อใดก็ตามว่า รัฐบาลยอมแพ้ ขอให้ถือว่าประกาศนั้นเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายศัตรู ด้วยเหตุนี้สวิตเซอร์แลนด์จึงเป็นประเทศประชาธิปไตยประเทศเดียวในยุโรปภาคกลางที่รอดพ้นจากการถูกยึดครองและรักษาความเป็นกลางไว้ได้ อย่างไรก็ดีเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๔๕ และมีการตั้งองค์การสหประชาชาติ(United Nations) ขึ้น ประชาชนชาวสวิสได้ลงประชามติไม่เข้าเป็นสมาชิก แต่สวิตเซอร์แลนด์ก็เข้าเป็นสมาชิกขององค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติหลายองค์การ และเป็นสมาชิกศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court ofJustice)ด้วย
     ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา เศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สถิติการว่างงานต่ำมากและรายได้ต่อหัวของประชากรสวิสอยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลก อุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศเป็นอย่างมาก ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรอุปกรณ์ชั่งตวงวัดที่มีความเที่ยงตรงสูง และอาหารแปรรูป รวมทั้งอุตสาหกรรมบริการ เช่น การขนส่ง การธนาคาร การประกันภัยและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ปัญหาที่เป็นลักษณะเฉพาะของประเทศนี้คือการที่แรงงานที่อพยพเข้ามาจำนวนถึง ๒ ใน ๓ เป็นชาวอิตาลี และอีกไม่น้อยที่เป็นชาวสเปน คนเหล่านี้ส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกทำให้ชาวสวิสจำนวนมากเกิดความวิตกว่า การเพิ่มจำนวนของแรงงานเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อภาวะสมดุลทางศาสนาและสังคมที่ดำรงอยู่มาเป็นเวลานานของประเทศเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ ๑๙๗๐ บรรดากิจการอุตสาหกรรมต่าง ๆต้องหันมาปรับโครงสร้างและวิีธการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและใช้คนทำงานน้อยลงเป็นผลให้ตำแหน่งงานต่าง ๆ ถูกยุบไปกว่า ๔๐๐,๐๐๐ ตำแหน่งคนงานต่างด้าวต้องอพยพกลับประเทศของตนอีกทั้งรัฐบาลยังออกกฎเกณฑ์จำกัดจำนวนคนเข้าเมืองเพื่อมาทำงานอีกด้วย เมื่อถึงกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ ความผันผวนทางการเมืองของโลกทำให้มีผู้ีล้ภัยการเมืองทะลักเข้ามาในสวิตเซอร์แลนด์และ
     จำนวนมากมาจากประเทศโลกที่สาม เป็นผลให้ให้ทศวรรษ ๑๙๙๐ มีคนต่างด้าวเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศมากกกว่า ๑ ล้านคน ปฏิกิิรยาที่ตามมาก็คือการเกิดความรู้สึกชาตินิยมและความรู้สึกต่อต้านคนต่างชาติในหมู่ชาวสวิสขึ้นมาใหม่ ดังจะเห็นได้จากการลงประชามติใน ค.ศ. ๑๙๘๗ มีผู้ออกเสียงสนับสนุนแผนจำกัดจำนวนการรับผู้ีล้ภัยการเมืองเข้าประเทศอย่างท่วมท้น นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์ยังต้องเผชิญปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วไปในสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น มลพิษทางน้ำและอากาศ การที่พื้นที่ที่เคยเป็นป่าเขาถูกรุกล้ำด้วยป่าคอนกรีต เหมืองหิน และที่ทิ้งขยะ ตลอดจนปัญหายาเสพติด การติดเหล้า และโรคเอดส์
     การบริหารการปกครองประเทศสวิตเซอร์แลนด์แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนคือรัฐสภา (Federal Assembly) ทำหน้าที่นิติบัญญัติสภาบริหาร (Federal Council)ทำหน้าที่บริหาร และศาลสูงสุด (Federal Supreme Court) ทำหน้าที่ด้านตุลาการรัฐสภาเป็นแบบ ๒ สภาที่ประกอบด้วยสภาแห่งชาติ(National Council) มีสมาชิก๒๐๐ คนมาจากการเลือกตั้งตามสัดส่วนของประชากร และสภาแห่งรัฐต่าง ๆ(Council of States) มีสมาชิก ๔๖ คน ซึ่งเป็นผู้แทนของแต่ละรัฐ รัฐละ ๒ คน และรัฐกึ่งรัฐ (demi-canton) รัฐละ ๑ คน วิีธการเลือกตั้งผู้แทนรัฐและวาระการดำรงตำแหน่งของผู้แทนเป็นอำนาจของรัฐที่จะกำหนดกันเอง สมาชิกของทั้ง ๒ สภามีสิทธิและอำนาจเท่าเทียมกันทุกประการ ระบบเช่นนี้เป็นการประกันว่าทุกรัฐจะมีผู้แทนของตนในรัฐสภาอย่างน้อย ๑ คน
     ทุก ๔ ปี สภาทั้งสองจะประชุมร่วมกันเพื่อเลือกคณะบุคคล ๗ คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในสภาบริหาร ซึ่งทำหน้าที่คล้ายคณะรัฐมนตรี โดยแต่ละคนต้องรับผิดชอบบริหารงานในแต่ละกระทรวง คือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรมและการตำรวจ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลังกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรม กระทรวงการขนส่ง คมนาคม และพลังงานรัฐมนตรีทั้ง ๗ คนต้องมาจากต่างรัฐกัน และมีธรรมเนียมว่าอย่างน้อย ๒ คนต้องมาจากรัฐที่พูดภาษาฝรั่งเศส หรือรัฐที่พูดภาษาอิตาลี นอกจากนี้ ทุกปีรัฐสภายังต้องประชุมกันเพื่อเลือกบุคคล ๒ คนจากสภาบริหารขึ้นมาทำหน้าที่ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีซึ่งมักจะเป็นการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
     อย่างไรก็ดีอำนาจอธิปไตยของประเทศยังคงอยู่ในมือของประชาชนโดยตรงซึ่งจะต้องเป็นผู้ออกเสียงลงประชามติในเรื่องต่าง ๆ ปี ละหลายครั้ง ทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ ในระดับประเทศนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลง
     รัฐธรรมนูญแต่ละครั้งจะต้องได้รับการเห็นชอบจากประชาชน โดยได้คะแนนเสียงข้างมากทั้งจากคะแนนเสียงทั้งหมด และได้รับเสียงข้างมากในแต่ละรัฐด้วย เป็นผลให้ประชากรในรัฐเล็ก ๆ ที่มีประชากรน้อยมีอิทธิพลอย่างมากในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ประชาชนทุกคนยังมีสิทธิเสนอให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ หากสามารถหาลายมือชื่อผู้สนับสนุนได้จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ ๑๐๐,๐๐๐ คน รัฐบาลจะต้องนำข้อแก้ไขนั้นมาเสนอให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติทันที(การแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ ครั้งสำคัญเกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๗๑เมื่อมีการเสนอให้สิทธิการออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของสมาพันธรัฐแก่สตรีจนประสบความสำเร็จ) ส่วนร่างกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ผ่านรัฐสภาแล้ว หากมีประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอย่างน้อย ๕๐,๐๐๐ คนหรือรัฐบาลของรัฐต่าง ๆอย่างน้อย ๘ รัฐ เสนอให้มีการลงประชามติรับไม่รับ รัฐบาลก็ต้องปฏิบัติตาม จึงอาจกล่าวได้ว่า สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศเดียวในโลกที่ใช้ระบบประชาธิปไตยโดยตรง
     ในด้านการต่างประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในค.ศ. ๒๐๐๒ แต่มิได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union - EU)อย่างไรก็ดี รัฐบาลสวิสก็ได้พยายามปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสหภาพยุโรป เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ รวมทั้งได้ทำสนธิสัญญาทวิภาคีเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศในสหภาพยุโรปหลายฉบับ และใน ค.ศ. ๒๐๐๕ ก็ได้เข้าร่วมในสนธิสัญญาเชงเงิน (Schengen Treaty) ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างชาติในทวีปยุโรปที่จะยกเลิกการจำกัดควบคุมการผ่านแดนทั้งคนและสินค้าระหว่างประเทศสมาชิก อันนับเป็นก้าวสำคัญของประเทศที่ดำรงความเป็นเอกเทศมาเป็นเวลานานเช่นสวิตเซอร์แลนด์ที่จะเข้าไปมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรปและประชาคมโลก.
     

ชื่อทางการ
สมาพันธรัฐสวิส (Swiss Confederation)
เมืองหลวง
เบิร์น (Burn)
เมืองสำคัญ
เจนีวา (Geneva) บาเซิล (Basel) ซูิรค (Zurich) โลซาน (Lausanne)
ระบอบการปกครอง
สมาพันธรัฐ หรือสหพันธ์สาธารณรัฐ
ประมุขของประเทศ
ประธานาธิบดี
เนื้อที่
๔๑,๒๙๐ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ : ประเทศเยอรมนีและประเทศฝรั่งเศส ทิศตะวันออก : ประเทศออสเตรีย และประเทศอิตาลีทิศใต้ : ประเทศอิตาลีทิศตะวันตก : ประเทศฝรั่งเศส
จำนวนประชากร
๗,๕๕๔,๖๖๑ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
เยอรมันร้อยละ ๖๕ ฝรั่งเศสร้อยละ ๑๘ อิตาลีร้อยละ ๑๐ และอื่น ๆ ร้อยละ ๗
ภาษา
เยอรมนีฝรั่งเศสอิตาลี
ศาสนา
คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ ๔๑.๘ นิกายโปรเตสแตนต์ร้อยละ ๓๕.๓ นิกายออร์ทอดอกซ์ร้อยละ ๑.๘อิสลามร้อยละ ๔.๓ อื่น ๆ และ ไม่ระบุร้อยละ ๕.๗ และไม่นับถือศาสนาร้อยละ ๑๑.๑
เงินตรา
ฟรังก์สวิส
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
เพ็ญแข คุณาเจริญ
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป